16 MIN READ

สู้กับประชาธิปไตยครึ่งใบ

24 January 2019

Thai   Spanish  French  German  Dutch   English

Listen to this story instead (English). 

หลังจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 รัฐบาลทหารปรับระบบการเมืองอีกครั้ง เพื่อสกัดกั้นผู้ต่อต้าน และควบคุมประชาชนทั่วไป ผู้ต่อต้านหลายร้อยรายถูกสั่งฟ้อง ข่มขู่ และถูกศาลตัดสินจำคุก เพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น นักการเมืองและผู้สนับสนุนจะหาเสียงได้อย่างไร ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 นี้

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นลูกทหารคนหนึ่ง เธอยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจโดยทหารในปี 2557 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ท้องถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยกลุ่มผู้ประท้วง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นางสาวชลธิชา และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้นานนัก เพราะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกใหม่ ห้ามไม่ให้มีการประท้วง

การประท้วงอย่างท้าทายของนางสาวชลธิชา เกิดขึ้นเพราะเธอรู้สึกว่า มีเรื่องไม่ดีบางอย่างในการตัดสินใจเข้ายึดอำนาจโดยทหาร – หรือที่เจ้าหน้าที่กล่าวยังเป็นทางการว่า – การเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยท่ามกลางการประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ชลธิชาเติบโตมาในครอบครัวทหารและพ่อแม่มีความเข้มงวด เธอจึงรู้จักกับกฎเหล็กดี และการนอบน้อมยอมรับมีผลต่อเสรีภาพส่วนบุคคล “ที่นี่คือประเทศของฉัน และฉันควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าฉันต้องการอะไร[เพื่อประเทศชาติ]” นางสาวชลธิชา ปัจจุบันอายุ 26 กล่าวกับโกลบอลกราวด์ (Global Ground)

ตั้งแต่มีการปฎิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2475 เมืองไทยต้องประสบกับรัฐประหารอย่างสำเร็จถึง 12 ครั้ง และมีอีก 7 ครั้งที่ไม่สำเร็จ

“เรานึกว่าจะแค่สักพัก คิดว่าเค้าคงจะอยู่ไม่นาน แต่เราคิดผิด” ศาสตราจารย์ ดร.  ชาญวิทย์ เกษตรศิรินักประวัติศาสตร์กล่าวกับเรา อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา ผู้นำรัฐประหารในปี 2557 ยังอยู่ในอำนาจ ทำให้รัฐบาลทหารนี้อยู่ในอำนาจนานที่สุดลำดับสองตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

ดร. ชาญวิทย์ เปรียบ พล.อ. ประยุทธ์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ทำการยึดอำนาจในปี 2500 และถือว่าเป็นรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนมากที่สุด

ภายใต้กฎอัยการศึก รัฐบาลทหารทำการเรียกตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกว่า 100 ราย รวมทั้งผู้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเก่าที่โดนยึดอำนาจ เพื่อการสอบสวน หรือ “การปรับทัศนคติ” โดยมีการกักบริเวณเป็นเวลาหลายวัน นางสาวชลธิชา ก็เป็นคนหนึ่ง ที่โดนเรียกตัวไปปรับทัศนคติ และได้รับการปล่อยตัวออกจากค่ายทหารหลังจากลงนามในเอกสารสัญญาว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง

เธอไม่ได้ตั้งใจจะทำตามสัญญา แต่ต้องเผชิญกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติมากมาย ที่จำกัดเสรีภาพของคนไทยในการประท้วง รวมตัว หรือเพียงแค่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นักเคลื่อนไหวอย่างนางสาวชลธิชา จึงต้องริเริ่มวิธีการใหม่

“เราอยากถูกฟ้องดำเนินคดี เราจึงจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์” นางสาวชลธิชา ผู้ก่อตั้ง กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวว่า ในวันครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร กลุ่มของเธอจัดงานวันเกิดเพื่อการรำลึก “เพราะเผด็จการถือกำเนิดขึ้น” ประชาธิปไตยจึงหายไป

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, 26, กล่าวกับผู้ชุมนุมระหว่างการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561

ผู้คนหัวเราะ ดูโทรศัพท์ และถือป้ายรูป พล.อ. ประยุทธ์ จมูกยาว ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561

ความกลัวการถูกจับกุมและถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เมื่อมีกลุ่มคนเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกกลุ่มทั้ง 14 รายถูกจับ ผู้ต่อต้านกลุ่มอื่นต่างถูกเพ่งเล็งเช่นกัน ในช่วงเวลา 4 ปีแรกของอำนาจทหาร มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 876 รายถูกเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ” และอย่างน้อย 14 คนโดนฟ้องดำเนินคดีเพราะไม่ไปรายงานตัว จากการรายงานขององค์กรติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายความฯ)

รัฐบาลทหารได้เริ่มทำ “กระบวนการบริหารอย่างทหารอย่างต่อเนื่อง” โดย “ประชาชนกลายเป็นเป้าหมายทางการทหาร” โดยมีกฎอัยการศึกให้อำนาจในการนำประชาชนขึ้นศาลทหารได้

แม้ว่าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วในปี 2558 เพราะกฎนี้ทำให้สถานฑูตหลายแห่งออกแถลงการณ์เตือนนักท่องเที่ยว และเงื่อนไขระบุโดยผู้ให้บริการประกันการเดินทางบางแห่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกไม่นาน มีการประกาศใช้ คำสั่งที่ 3/2558 แทน โดยมีผลห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง และห้ามไม่ให้มีการรวมตัวทางการเมืองมากกว่า 5 คน

คำสั่งนี้ไม่มีหน่วยงานใดขัดขืนได้ เพราะภายใต้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้รับการอนุมัติภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของรัฐบาลทหาร มาตราการ “เพื่อการปฏิรูปใด ๆ” ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและถือว่าสิ้นสุด คำสั่งทุกคำสั่งสิ้นสุด และตามการรายงานของศูนย์ทนายความฯ กว่า 400 รายแล้วที่ถูกฟ้องดำเนินคดี เพราะการรวมตัวทางการเมือง

ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนี้จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม การเดิมพันยิ่งสูงขึ้น และบรรดาผู้หวังว่าจะลงสมัครมีเรื่องต้องปวดหัวอย่างมาก กล่าวคือ จะหาเสียงได้อย่างไรในประเทศที่สิทธิพื้นฐานทางการเมือง ตั้งแต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปจนถึงการจัดกิจกรรมทางการเมือง ถูกจำกัดไว้ เพราะกลัวการโดนฟ้องหรือต้องขัง

กฎหมายที่ “กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง[ของทหาร]ที่มีการใช้งานมากที่สุด เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ตามรายงานของศูนย์ทนายความฯ ระบุว่ากฎหมายนี้ เป็นการเอาผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาที่เคยมีมาก่อน โดยผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ดังที่รู้จักในนาม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีการใช้กฎหมายนี้ เพื่อเอาผิดผู้ถูกกล่าวหากว่า 162 ราย ตั้งแต่ทำการรัฐประหาร บรรดาคนเหล่านี้หลายรายได้แชร์บทความออนไลน์ หรือภาพมีมที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่ใช้เพื่อเอาผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน กฎหมายนี้เดิมผ่านรัฐสภาตั้งแต่ปี 2550 แต่มีการแก้ไขโดยรัฐบาลทหารในปี 2559 กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ให้อำนาจรัฐบาลในการดำเนินคดีผู้ใดก็ตามที่แชร์ข้อมูลที่ถือว่า “ผิด” หรือ “บิดเบือน” มีการใช้ พ.ร.บ. นี้เพื่อเอาผิดบุคคลผู้เป็นที่รู้จักหลายราย รวมทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองก่อตั้งใหม่ในนาม พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกกล่าวหาว่า บิดเบือนความจริง และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของ คสช.

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ถูกสั่งฟ้องภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ดร. ชาญวิทย์ เข้าธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2510 ช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอำนาจทหารในประเทศ และเป็นตัวแปลความหมายการเมืองไทยในอดีตถึงปัจจุบันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขากลายเป็นผู้แสดงความเห็นชื่อดังบนเฟสบุกเกี่ยวกับการเมืองไทย แต่เมื่อเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระเป๋าของภรรยา พล.อ. ประยุทธ์ เขากลับถูกสั่งฟ้อง ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์

เขาไปให้การต่อศาลแต่ยังไม่ได้รับหมายจากตำรวจตั้งแต่นั้น “ยุทธวิธีของพวกเขาก็คือ การเขียนเสือให้วัวกลัวโดยแสดงให้ผู้คนเห็นว่า ระดับอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ยังถูกสั่งฟ้องได้ เราไม่ไว้หน้าใครแน่ ๆ” ดร. ชาญวิทย์ระบุ หลายคนต่างรู้สึกหวั่นเกรง แต่ ดร. ชาญวิทย์ บอกว่าเขาจะไม่เงียบ “จะมาปิดปากผมไม่ได้หรอก ผมพูดของผมมาแบบนี้เป็น 50 ปี” เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ ถูกกวาดล้างเป็นอย่างมาก นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw ซึ่งติดตามประเด็นทางการเมืองระบุในอีเมลถึงโกลบอลกราวด์ว่า “75-80% ของคดี[เสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น]เป็นเนื้อหาออนไลน์ และจำเลยผู้เป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร”

แต่บางครั้ง ยุทธศาสตร์ของทหารถูกกระแสตีกลับ เมื่อบทเพลง “ประเทศกูมี” ซึ่งถูกวิจารณ์โดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เผยแพร่ในยูทูปเมื่อเดือนตุลาคม ตำรวจขู่ว่าจะดำเนินคดีกับแรปเปอร์ ข้อหาสร้างความวุ่นวาย แต่กลับเหมือนช่วยโฆษณาให้เพลงดังขึ้นไปอีก

“ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ” ท่อนหนึ่งของบทเพลงระบุ ในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ เพลงนี้มีผู้เข้าชมกว่า 17 ล้านครั้ง แทนที่จะดำเนินคดีกลับผู้เขียนเพลง ทหารกลับเลียนแบบเขาแทน โดยเขียนแรปทหาร เพื่อชื่นชมนโยบายของตัวเอง

ก่อร่างเพื่อสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ

ตั้งแต่ทำการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารทำปรับโครงสร้างของประเทศไทย ทำระบบประชาธิปไตยให้อ่อนแอ เพื่อให้ทหารสืบทอดอำนาจได้อีกนานหลังมีการเลือกตั้ง

เมื่อเดือนเมษายน 2560 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ระบุว่า บทบัญญัติหลายประการภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำลายหลักการทางประชาธิปไตย เช่น โดยการกำหนดให้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านกว่า 5 ปี หลังจากรัฐสภาเปิดประชุมในปีหน้า ตลอดระยะแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่ตั้งโดยทหาร จะมีบทบาทหลักในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้รับตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า พล.อ. ประยุทธ์ อาจจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร “คุณเอาชนะฝ่ายทหารไม่ได้ เพราะเค้าจะมีคะแนนสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา” ดร. ชาญวิทย์ ระบุ นั่นหมายความว่า กระบวนการเลือกตั้งเต็มไปด้วยข้อกังขา

รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ยังกำหนดระบบตัวแทนสัดส่วนใหม่ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง มีเสียงส่วนมากในสภาได้ยาก “เมื่อคุณเขียนข้อความเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย คุณไม่รู้ว่าจะเรียกระบบนี้ว่าอย่างไรดี เพราะมันไม่เหมือนใครเลย” นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยบริสตอลกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังได้อนุมัติแผนพัฒนาแห่งชาติ ครอบคลุมระยะเวลาถึง 20 ปี โดยกำหนดนโยบายการด้านเศรษฐกิจและสังคมเกือบทั้งหมดสำหรับอีกสองทศวรรษหน้า และมีข้อบังคับทางกฎหมายให้รัฐบาลชุดต่อไปทำตาม หากไม่ทำตาม จะหมายถึงการเพิกถอนสิทธิในการรับตำแหน่งราชการบางตำแหน่ง การขับออก หรือถูกตัดสินติดคุก

“การเลือกตั้งในเมืองไทยมีผลต่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก… หากคุณดูที่กฎระเบียบต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า กฎเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตนายกคนต่อไปลำบากมาก” นายเข็มทอง กล่าว

ท่ามกลางบรรยากาศนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ยังไม่แน่ใจว่าควรวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ดีที่สุดสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และพิจารณาว่าจะอยู่อย่างเดิมในช่วงรัฐบาลต่อไป “หน้าที่ของพรรคคือพยายามจัดตั้งรัฐบาล แต่ในสถานการณ์แบบนี้ หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล คุณทำอะไรไม่ได้เลย” นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าว อย่างไรก็ตาม ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินใจสู้ฝ่ายทหาร นายชูศักดิ์กล่าวกับโกลบอลกราวด์  

ตามความคิดเห็นของนายชูศักดิ์ เป้าหมายของทหารคือ สะกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ “เค้ามีวัตถุประสงค์ในการสะกัดกั้นเพื่อไทย[ไม่ให้ชนะการเลือกตั้ง]” นักการเมืองท่านนี้กล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังวางกลยุทธ์อย่างดี โดยใช้พรรคการเมืองเครือข่ายในการรักษาคะแนนเสียงในสภาให้ได้มากที่สุด

“แก่นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้… ว่าด้วยการวางแผน หรือจะเอาชนะระบบได้อย่างไร” นายเข็มทองกล่าว ทุกวันนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พรรคเพื่อไทยจะยังคงอยู่ดังเดิมในอนาคตหรือไม่ เพราะตอนนี้ได้เริ่มมีการสืบสวน เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ภายใต้กฎหมายไทย พรรคการเมืองจะถูกยุบ หากพิสูจน์ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ไม่ใช้สมาชิกพรรค

เมื่อไม่นานมานี้เอง ในวันที่ 11 ธันวาคม รัฐบาลเพิ่งยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่คงไม่เกิดขึ้นได้ หากสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคนยังไม่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งชูศักดิ์ ซึ่งโดนดำเนินคดีเมื่อต้นปีนี้ ข้อหาจัดแถลงข่าว

ถึงแม้บรรยากาศทางการเมืองเป็นอย่างนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มีพรรคการเมืองจดทะเบียนแล้วถึง 96 พรรค เมื่อต้นเดือนธันวาคม โดยหนึ่งในสามของพรรคการเมืองพรรคใหม่นี้ มีทั้งคนหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่รู้จักกันดีในบรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหว

นายรังสิมันต์ โรม นักเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักกันดี และนักศึกษาด้านกฎหมาย ชินกับการถูกคุมขังและขึ้นศาล เขามีคดีที่กำลังดำเนินอยู่ถึง 8 คดี และได้เป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ “ผมเข้าร่วมพรรค เพราะผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะหลอมรวมผู้คนไว้ด้วยกัน และทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่เมืองไทยอีกครั้ง” นายรังสิมันต์กล่าว

แต่เนื่องจากติดอยู่หลายคดี เขาจึงต้องวุ่นวายหลายอย่าง ทั้งการหาเสียง และไปขึ้นศาลตามหมายเรียก เหนื่อยทีเดียวที่ต้องไปให้การทุก 2-3 สัปดาห์ นายรังสิมันต์กล่าว แต่สิ่งที่เขากังวลที่สุดคือ อนาคตทางการเมือง เพราะหากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดตามคดีใดคดีหนึ่ง หมายความว่า เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สมัครรับเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ การถูกติดตามตลอดเวลาโดยเจ้าหน้าที่ผู้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอการเคลื่อนไหวของเขา เมื่อเขาพบกับผู้สนใจร่วมเป็นสมาชิกพรรค “ผู้คนจะเชื่อได้อย่างไรว่า เขาจะปลอดภัยหลังจาก[เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง]” นายรังสิมันต์กล่าว

หลายอย่างก็ยุ่งยากสำหรับองค์กรทางการเมือง เพราะข้อกำหนดเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหม่หลายประการ “รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายกำหนดเงื่อนไขหลายข้อ [ที่เราต้องปฎิบัติตามก่อนจะ]ทำการยื่น[ใบสมัคร]ได้” นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง รองหัวหน้าพรรคสามัญชน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม กล่าว

กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนก่อตั้ง ขณะที่สมาชิกร่วมก่อตั้งต้องร่วมสนับสนุนอย่างน้อย 1,000 บาท นอกจากนี้ แต่ละพรรคการเมืองยังต้องมีสมาชิกผู้ร่วมสนับสนุนจำนวนอย่างน้อย 5,000 ราย และต้องมีสมาชิกเพิ่มอีก 5,000 ราย ภายในระยะเวลา 4 ปี

ท่ามกลางอุปสรรคมากมายนี้ และค่าผ่านทางราคาสูงที่พวกเขาต้องจ่าย หลายคนยังคงสู้ต่อไป ตอนนี้นางสาวชลธิชาเปลี่ยนที่อยู่ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามของตำรวจ เธอยังติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วบ้านพ่อแม่ เพื่อลดการรบกวนของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

“ฉันรู้สึกว่าเมืองไทยไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ไม่เพียงแค่เพราะเจ้าหน้าที่[ตำรวจ]เท่านั้น แต่ยังเป็นคนไทยด้วยกันเองอีกด้วย” นางสาวชลธิชากล่าว โดยอธิบายว่า เธอได้รับคำขู่จากเพื่อนบ้านผู้ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเธอ และชลธิชายังกล่าวเสริมอีกว่า แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เธอคิดว่าทหารผู้มีอำนาจในปัจจุบันยังจะสืบทอดอำนาจต่อไปได้

แม้กระนั้น เธอก็ยังรอให้ถึงวันเลือกตั้ง เพราะเธอหวังว่า อย่างน้อยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็น “การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีความสำคัญกับคนไทยมาก” นางสาวชลธิชากล่าว “คุณต้องตัดสินใจว่า คุณต้องการจะใช้ชีวิตร่วมกับอำนาจทหาร[ต่อไป] หรือคุณต้องการให้เมืองไทยมีประชาธิปไตยอีกครั้ง”

This slideshow requires JavaScript.

  1. นักแสดงรับดอกกุหลาบ (สัญญลักษณ์ของผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร) จากผู้ชมระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561
  2. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, 26, กล่าวกับผู้ชุมนุมระหว่างการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561
  3. ผู้หญิงยืนขึ้นเพื่อรับรางวัลจับฉลาก ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561
  4. ผู้คนด้านหลังแถบผ้าสีดำเขียนว่าอยากเลือกตั้งแล้วนะ ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561
  5. นักแสดงเดินผ่านผู้คนระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ 27 ธันวาคม 2561 กรวยจราจรเป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงรัฐบาล

Article by Laura Villadiego.
Editing by Denise Hruby and Anrike Visser.
Illustrations by Imad Gebrayel.
Audio story by Melanie Hall.

Taking you where others don't
Ready to make sense of foreign news?

By subscribing you agree that your information will be transferred to MailChimp for processing in accordance with their Privacy Policy (https://mailchimp.com/legal/privacy/) and Terms (https://mailchimp.com/legal/terms/).